โครงการวิจัยกลไกการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตทางเศรฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง
Mechanism for Driving Sustainable Economic Growth Based on Sufficient Economy Philosophy: A Case Study of Lampang



ที่มาและความสำคัญ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)อย่างกลมกลืน เพราะมีเป้าหมายปลายทางที่มุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุได้แนวคิดการดำเนินโครงการวิจัยฉบับนี้มีความเชื่อบนพื้นฐานว่าจังหวัดลำปางได้ดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อนประชาชนทุกภาคส่วนในการนำแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพัฒนายั่งยืน ประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป้าหมายที่ 8 เพื่อไปขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สถานประกอบการ กลุ่มธุรกิจ ประชาชน และผู้ใช้แรงงานขาดรายได้เกิดภาวะความยากจนขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ดังนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ 8 ผู้วิจัยจึงได้เสนอโครงการศึกษาเรื่องกลไกการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง ภายใต้หลักคิดที่สำคัญคือ เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน สร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจที่เน้นการปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป


วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษากลไกขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของจังหวัดลำปางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของจังหวัดลำปางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของจังหวัดลำปางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ระเบียบวิธีวิจัย

รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (mixed method design) แบบ convergent design โดยให้ความสำคัญกับวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ และวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ


คณะทำงานโครงการวิจัย

ที่ปรึกษาโครงการวิจัย
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กังสดาล กนกหงส์
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยจรัส เตชะตันมีนสกุล
หัวหน้าโครงการวิจัย
รองศาสตราจารย์ปริเยศ สิทธิสรวง
นักวิจัย
1. รองศาสตราจารย์วิไลลักษณ์
2. อาจารย์ปิยรัตน์ วงศ์จุมมะลิ
3. อาจารย์อมาพร ปวงรังษี
4. อาจารย์วารินทร์ วงศ์วรรณ
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์
6. อาจารย์อัจฉริยา ครุธาโรจน์
7. นายนราศักดิ์ ปิยาเนตร
นักวิจัยร่วม
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลวัฒน์ ภูวิชิต
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นงลักษณ์ อานี


กิจกรรมสำคัญ

...

เวทีสัมมนาเผยแพร่โมเดล

กิจกรรมเวทีสัมมนาเผยแพร่โมเดลกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 รศ.ดร.ปริเยศ สิทธิสรวง รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมด้วย รศ.วิไลลักษณ์ พรมเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อ.อัจฉริยา ครุธาโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิเทศสัมพันธ์ พร้อมด้วยทีมงานคณะวิจัยและเครือข่าย ประกอบด้วย ผศ.กมลวัฒน์ ภูวิชิต คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และผศ.ดร.นงลักษณ์ อานี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์


จัดเวทีสัมมนาเผยแพร่โมเดลกลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง) ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับเกียรติจากนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานพิธีเปิด โดยนายธีรศักดิ์ ลิขิต นายอำเภอคลองลาน ดร.วิทยา ทัศนไพบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลคลองลานพัฒนา ผศ.ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และประชนชนเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “กลไกขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุลและมั่นคง ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ หรือ "ธัชชา" ที่จัดตั้งขึ้นโดย กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยการวิจัยในครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาบริบทการขับเคลื่อนของชุมชน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนดังกล่าว เพื่อเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะในการพัฒนาการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของชุมชนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป


เวทีชุมชนป่าเหมี้ยง

วันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 ทีมวิจัยลงพื้นที่จัดเวทีภาคประชาชนบ้านป่าเหมี้ยง ณ ศาลาประชาคมบ้านป่าเหมี้ยง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน โดยมีชาวบ้านป่าเหมี้ยงเข้าร่วมเวทีจำนวน 30 คน


เวทีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ทีมวิจัยจัดเวทีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ ห้องประชุมเมฑาทัพ ชั้น 5 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยในช่วงเช้าเป็นเวทีเครือข่ายภาครัฐ มีผู้เข้าร่วมเวทีประกอบด้วย 1) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง 2) องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง 3) สำนักงานจังหวัดลำปาง 4) การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง 5) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง 6) สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองลำปาง และ 7) เทศบาลนครลำปาง ในภาคบ่ายเป็นเวทีเครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย 1) สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง 2) สมาคมการท่องเที่ยวนครลำปาง และ 3) สภาอุตสหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากเวทีมาสังเคราะห์การขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวโดยชุมชน



ผลการดำเนินงาน


...

...

...

...



วิดีโอแนะนำ

กระบวนการวิจัย



ชุมชนป่าเหมี้ยง

ชุมชนท่ามะโอ